คำถามที่พบบ่อย

よくある質問

อย่าเก็บปัญหาไว้กับตัวคนเดียวครับ

ปัญหาครอบครัว

Q:ดิฉันมีลูกกับคนญี่ปุ่น (นายA) แต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน ลูก(น้องB)อายุ 10 ปี นายA จดทะเบียนรับรองบุตรให้ ดิฉันอาศัยอยู่เมืองไทย ทราบว่านายA เสียชีวิตเมื่อเดือนที่แล้ว ลูกดิฉันมีสิทธิได้รับมรดกไหมคะ ทราบว่านายA มีภรรยาและลูก 1 คนค่ะ

A:น้องB เป็นทายาทมีสิทธิได้รับส่วนแบ่ง 1 ใน 4 ของทรัพย์มรดกทั้งหมดครับ แม้ว่าคุณจะไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับนายA ก็ไม่มีผลต่อส่วนแบ่งนี้ครับ

ตัวอย่างเช่น ถ้านายA มีทรัพย์มรดกที่เป็นเงินฝากจำนวน 10 ล้านเยนเท่านั้นและทายาทตกลงกันได้ น้องB ควรจะได้รับตามสัดส่วน คือจำนวน 2 ล้าน 5 แสนเยน

ส่วนที่เป็นเงินแบ่งกันได้ง่ายครับ แต่อสังหาริมทรัพย์จะไม่สามารถแบ่งกันได้ง่ายเหมือนเงินครับ

ตัวอย่างเช่น กรณีที่นายA มีบ้าน ก็สามารถหารือกับทายาทว่าจะแบ่งปันกันอย่างไร ซึ่งทำได้หลายวิธี เช่น ขายบ้านนั้นแล้วนำเงินที่ได้มาแบ่งกันตามสัดส่วน ถ้าขายได้ในราคา 40 ล้านเยน น้องB ก็ควรได้รับจำนวน 10 ล้านเยน หรือถ้าภรรยานายA ต้องการครอบครองบ้านแต่เพียงผู้เดียว ก็สามารถตกลงกันเพื่อให้ภรรยานายA จ่ายเงินชดเชยได้ ซึ่งเมื่อพิจารณาจากราคาขายบ้านแล้ว น้องB น่าจะเรียกร้องเงินชดเชยจากภรรยานายA ได้จำนวน 10 ล้านเยนครับ

Q:ดิฉันเป็นคนไทย มีลูกกับคนญี่ปุ่น เขาไม่จ่ายค่าเลี้ยงดูบุตร ต้องการให้เขาจ่าย แต่เขาไม่ได้จดทะเบียนรับรองบุตร เป็นลูกนอกสมรส ฉันจะเรียกค่าเลี้ยงดูบุตรจากเขาได้ไหมคะ

A:หากข้อเท็จจริงคือเป็นพ่อลูกกันจริงๆ แม้จะไม่ได้จดทะเบียนรับรองบุตรก็อย่างเพิ่งเลิกล้มความตั้งใจครับ ลองทำเรื่องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรดูก่อนดีกว่าครับ

Q:อยากจะหย่ากับคู่สมรสคนญี่ปุ่น แต่ไม่ได้ทำงาน แล้วก็ไม่มีรายได้ กลัวว่าหย่าแล้วจะไม่ได้อำนาจปกครองบุตร

A:ถ้าดูจากงานที่ปฏิบัติอยู่จริงในปัจจุบัน รายได้เป็นเพียงปัจจัยหนึ่งในการพิจารณาให้อำนาจปกครองบุตรแก่ภรรยาหรือสามีเมื่อมีการหย่าร้างเกิดขึ้น ความสุขของลูกเป็นปัจจัยที่สำคัญที่มีผลต่อการตัดสินมากที่สุดครับ ถึงแม้ว่าแม่จะไม่ได้ทำงานประจำ(アルバイト: arubaito) หรืออยู่ในฐานะที่ต้องได้รับเงินช่วยเหลือเลี้ยงชีพจากทางรัฐ(生活保護 : seikatsu hogo) ก็มีโอกาสได้อำนาจปกครองบุตรครับ ติดต่อสำนักงานฯ ของผมเพื่อรับคำปรีกษาได้ครับ

ปัญหาจัดการมรดก

Q:สามีคนญี่ปุ่นเสียชีวิต ไม่ทราบว่าต้องทำอย่างไรบ้างคะ

A:ผมขอแจ้งให้ทราบเกี่ยวกับขั้นตอนการรับมรดก ซึ่งโดยปกติจะดำเนินตามลำดับดังนี้ครับ

  1. ตรวจสอบว่าทายาทมีใครบ้าง
  2. ตรวจสอบว่าทรัพย์มรดกมีอะไรบ้าง

✴︎สามารถใช้ทรัพย์มรดก (เงินฝากในธนาคารของเจ้ามรดก) เป็นค่าใช้จ่ายในการจัดพิธีศพได้ ดังนั้น กรุณาเก็บใบเสร็จไว้ด้วยนะครับ

  1. หารือกับทายาทว่าจะแบ่งปันมรดกกันอย่างไร

สำหรับการตรวจสอบข้างต้น จะตรวจสอบทายาทจากทะเบียนครอบครัว ตรวจสอบทรัพย์มรดกจากการธนาคาร เป็นต้น ซึ่งมีรายละเอียดที่ต้องดำเนินการเป็นจำนวนมาก ดังนั้นผมแนะนำให้ติดต่อทนายหรือผู้เชี่ยวชาญเพื่อช่วยดำเนินการให้ครับ

Q:ดิฉันเป็นคนไทย เพิ่งแต่งงานกับคนญี่ปุ่นได้ 1 ปี แล้วสามีเสียชีวิต ลองปรึกษากับเพื่อนคนไทยที่มีความรู้กฎหมายดีคนหนึ่ง เขาบอกว่าถ้าแต่งงานยังไม่ถึง 3 ปี ไม่มีสิทธิรับมรดก ดิฉันไม่มีสิทธิรับมรดกอะไรเลยหรือคะ และสามีของดิฉันมีลูกกับภรรยาเก่าด้วยค่ะ

A:คุณมีสิทธิรับมรดกครับ

ตามกฎหมายแพ่งของญี่ปุ่น คู่สมรสเป็นทายาทโดยธรรมมีสิทธิรับมรดก โดยไม่มีเงื่อนไขเกี่ยวกับระยะเวลาแต่งงาน สำหรับกรณีนี้ คุณมีสิทธิรับมรดกครึ่งหนึ่ง และลูกของภรรยาเก่ามีสิทธิรับมรดกครึ่งหนึ่ง สิ่งที่เพื่อนคนไทยของคุณบอกเป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้องครับ หลายท่านปรึกษาผู้ที่ไม่ใช่ ทนายความและเชื่อคำแนะนำที่ไม่ถูกต้องเหล่านั้น แม้แต่หน่วยงานราชการหรือธนาคารบางครั้งก็ให้คำแนะนำที่ไม่ถูกต้องนะครับ ดังนั้นเรื่องการรับมรดกครับ ผมขอแนะนำให้ปรึกษาทนายความครับ

Q:ดิฉันอยู่ที่ญี่ปุ่น กรณีที่ดิฉันเสียชีวิต จะยกทรัพย์สมบัติให้ลูกของญาติที่เมืองไทยได้ไหมคะ

A:ได้ครับ

คุณสามารถทำพินัยกรรมไว้ โดยมีข้อความระบุว่าคุณประสงค์จะยกทรัพย์สินใดให้แก่ใครไว้อย่างชัดเจนมากที่สุด

พินัยกรรมเป็นการแสดงเจตนาที่ประสงค์ให้มีผลเมื่อตนเองเสียชีวิตไปแล้ว ซึ่งจะยกทรัพย์สินให้แก่ใครก็ได้ โดยบุคคลที่ถูกระบุให้เป็นผู้รับมรดกอาจไม่ใช่ทายาทโดยธรรม (บุตร คู่สมรส หรือบิดามารดาเป็นต้น) เสมอไป ดังนั้นหากคุณประสงค์จะยกมรดกให้ลูกของญาติที่อยู่เมืองไทยซึ่งไม่ใช่ทายาทโดยธรรมจึงจำเป็นต้องทำพินัยกรรม เพื่อแสดงความประสงค์ดังกล่าว

สำหรับพินัยกรรมคุณจะเก็บไว้ที่บ้านเองก็ได้ หรือนำไปฝากไว้ที่สำนักกฏหมาย (法務局 : Homu Kyoku)หรือสำนักงานรับรองเอกสาร (公証役場 : Kosho Yakuba) เพื่อความปลอดภัยมากขึ้นก็ได้

หากตั้งใจจะไม่กลับเมืองไทย ใช้ชีวิตในญี่ปุ่นจนแก่ชรา และเสียชีวิตในญี่ปุ่น ควรทำพินัยกรรมเป็นภาษาญี่ปุ่น และแนบคำแปลภาษาไทย หากต้องการทำพินัยกรรมเป็นภาษาไทย ก็สามารถทำได้แต่มีขั้นตอนและรายละเอียดที่ค่อนข้างซับซ้อน กรุณาติดต่อเพื่อรับคำปรึกษาครับ

Q:คู่สมรสชาวญี่ปุ่นเสียชีวิต รู้สึกกังวัลเรื่องสิทธิรับมรดก เพราะพำนักอยู่ในญี่ปุ่นอย่างผิดกฎหมาย ดิฉันมีสิทธิได้รับมรดกไหมคะ

A:คุณมีสิทธิได้รับมรดกในฐานะคู่สมรส คนต่างชาติที่พำนักอยู่ในญี่ปุ่นเกินกำหนดก็สามารถใช้สิทธิตามกฎหมายแพ่งเพื่อรับมรดกได้ครับ ผมยินดีให้คำปรึกษาทั้งเรื่องมรดก รวมทั้งการยื่นเรื่องขอวีซ่าเพื่อให้อยู่ในญี่ปุ่นได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายด้วยครับ ติดต่อสำนักงานฯ ของผมเพื่อรับคำปรีกษาได้ทันทีครับ

ปัญหาเรียกร้องค่าจ้างโอทีค้างจ่าย

Q:ผมเป็นหัวหน้ากุ๊กอยู่ที่ร้านอาหารไทย ผมต้องการเรียกร้องให้ทางร้านจ่ายค่าล่วงเวลาให้ผม แต่ทางร้านอธิบายผมว่า “ คุณทำงานในฐานะหัวหน้ากุ๊ก ซึ่งอยู่ในระดับผู้กำกับดูแล ร้านจึงไม่ต้องจ่ายค่าล่วงเวลาให้” ไม่ทราบว่าจริงๆ แล้วเป็นอย่างไรครับ

A:คุณมีโอกาสที่จะได้รับค่าล่วงเวลาค่อนข้างสูงครับ

ตามกฎหมายมาตรฐานแรงงาน “ผู้ที่ทำงานในตำแหน่งผู้กำกับดูแล” ไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลา เมื่อทำงานเกินเวลาทำงานปกติตามที่กฎหมายกำหนด อย่างไรก็ตาม ศาลจะพิจารณาอย่างเข้มงวดเพื่อตัดสินว่าคุณเข้าข่าย “ตำแหน่งผู้กำกับดูแล” นี้หรือไม่ ในอดีตเคยมีคดีหนึ่ง ซึ่งศาลตัดสินว่าผู้จัดการร้านแม็คโดนัลด์ไม่เข้าข่าย “ตำแหน่งผู้กำกับดูแล” ดังนั้น ความเข้าใจที่ว่าไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลา เพราะว่าทำงานในตำแหน่งห้วหน้ากุ๊กหรือผู้จัดการร้าน เป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องนะครับ คุณจะมีสิทธิรับค่าล่วงเวลาหรือไม่นั้น ไม่ได้พิจารณาจากชื่อตำแหน่งเพียงเท่านั้น แต่จะพิจารณาจากประเด็นอื่นๆ ด้วยเช่น คุณสามารถกำหนดเวลาเข้าออกงานได้เอง หรือได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสมกับ “ตำแหน่งผู้กำกับดูแล” หรือไม่ เป็นต้น ถ้าบริษัทไม่ต้องจ่ายค่าล่วงเวลาสำหรับตำแหน่งหัวหน้ากุ๊ก บริษัทต่างๆ คงจ้างพนักงานทุกคนในตำแหน่งหัวหน้ากุ๊ก กฎหมายไม่อนุญาตให้บริษัทดำเนินการเช่นนี้ได้ครับ


ให้ผมได้ช่วยเหลือคุณ ติดต่อทนายเคน

TEL:03-6709-6785
FAX : 03-6709-6786
ภาษาไทย:070-8367-8035
LINE ID : bengoshiken
FACEBOOK